MAC Address
Media Access Control address หรือ MAC Address เป็นค่า Physical Address ที่ถูกกำหนดลงบน NIC (Network Interface Controller) Card เช่น Card LAN หรือ Wireless Card โดยอยู่ในรูปแบบเลขฐาน16 ซึ่งหมายเลข MAC Address จะไม่ซ้ำกัน MAC Address ใช้สำหรับการสื่อสารบน Layer 2 (Data Link) ในOSI Layer Model
MAC Address เหล่านี้จะถูกติดตั้งมาพร้อมกับฮาร์ดแวร์เน็ตเวิร์คการ์ด หรือ NIC(Network Interface Card) ที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้เชื่อมต่อระบบเครือข่าย Ethernet (LAN), Wi-Fi และ อื่นๆ
โดยเลข MAC Address พบได้ในอุปกรณ์ เช่น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องปริ้นเตอร์ อุปกรณ์เครือข่าย แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ค มือถือ อุปกรณ์ Network ต่างๆ เป็นต้น
ยกตัวอย่างสำหรับการดูค่า MAC Address ในคอมพิวเตอร์ พิมพ์คำสั่ง (Command Prompt) ขึ้นมาโดยกด "ปุ่ม Windows + R" และพิมพ์ว่า "cmd" หรือจะเปิดจาก เมนูเริ่มต้น (Start Menu) ก็ได้เช่นกัน
จากนั้นพิมพ์ลงไปว่า "ipconfig /all" และกด "ปุ่ม Enter" หาคำว่า Physical Address นั่นก็คือ MAC Address นั่นเอง ซึ่งในอุปกรณ์ของเราสามารถมีหลาย MAC Address ได้เช่น MAC Address ของ Ethernet (LAN), Wi-Fi และ Bluetooth
โครงสร้างของ MAC Address
MAC Address มีขนาด 6 Bytes หรือ 48 Bit โดยจะประกอบไปด้วย 2 ส่วน โดยที่ 3 Byte แรก หรือ 24 Bit แรกนั้นเรียกว่า OUI (Organizationally Unique Identifier) ซึ่งทางหน่วยงานกลาง IEEE จะเป็นผู้กำหนดให้กับผู้ผลิตรายนั้นๆ ซึ่งอาจจะเปรียบเสมือนเป็นหมายเลขประจำตัวของผู้ผลิต และในส่วน 3 Byte สุดท้าย หรือ 24 Bit สุดท้ายนั้น ทางผู้ผลิตจะเป็นผู้กำหนดให้เอง
MAC Address นั้นสามารถเขียนให้อยู่ในหลายรูปแบบด้วยกัน
00:01:02:AB:CD:EF OUI, Vender Assign
00-01-02-AB-CD-EF OUI, Vender Assign
0001.02AB.CDEF OUI, Vender Assign
ดังนั้นเราสามารถนำ MAC Address มาตรวจสอบได้ว่า Vendor หรือ ผู้ผลิตของ MAC Address แต่ละเบอร์เป็นใคร ยกตัวอย่างเช่นตรวจสอบจาก Web https://macvendors.com/ เมื่อเข้า Web เรียบร้อยเราก็สามารถใส่ MAC Address เพื่อตรวจสอบผู้ผลิตหรือ Vendor ได้
ประเภทของ MAC Address
1.Unicast Address เป็น MAC Address ที่ได้ถูกระบุไว้บน NIC Card, Wireless Card หรือ อุปกรณ์ Network เช่น Switch, Router ซึ่ง MAC Address แบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
รูปแบบ Unicast ถูกเรียกตามการส่งข้อมูลแบบ Unicast หมายถึงการส่งข้อมูลแบบ 1 Source(ต้นทาง) 1 Destination(ปลายทาง) ดังนั้นที่อยู่ MAC Address ที่ปรากฏใน Frame ก็จะเป็นที่อยู่เฉพาะตัวของอุปกรณ์ต้นทาง และ ปลายทาง
2.Multicast เป็น MAC Address ที่ใช้สำหรับรับส่งแบบกลุ่ม ทั้งนี้ถ้าหากมีการรับส่งแบบกลุ่มจะต้องมีการแปลง IP Multicast เป็น MAC Address ยกตัวอย่างการรับส่งแบบ Multicast เช่น Streaming และ IEEE ได้ทำการจัดสรร OUI ที่มีค่า 01-00-5E เป็น MAC Address แบบ Multicast (ซึ่ง MAC Address นี้ก็จะถูกนำมาใช้ใน Routing Protocol ที่ใช้ IP แบบ Multicast เช่น OSPF, EIGRP, RIPv2 ด้วยเช่นกัน)
ภาพตัวอย่างในกรณีที่ต้องการให้คอมพิวเตอร์ส่งข้อมูลภายในเครือข่ายแบบเป็นกลุ่มได้หรือ 1 Sourceออกไปยัง 1 กลุ่ม Destination
3.Broadcast เป็น MAC Address ที่ใช้สำหรับกรณีถ้าต้องการส่งข้อมูลจาก 1 Source ไปยังอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อในเครือข่ายทั้งหมด Broadcast MAC Address ใช้เบอร์ FF-FF-FF-FF-FF-FF เราจะเห็นการใช้ Broadcast MAC Address ในตัวอย่าง เช่น การทำ ARP เพื่อทำการจับคู่ MAC Address กับ IP
Comments